เกี่ยวกับ Sci-FI

จากการที่อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำร่องการศึกษาระดับปริญญาโท ที่นิสิตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานด้านการผลิต (Production) และอีกทีมในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) แบบเต็มเวลาเสมือนเป็นพนักงานของบริษัทตลอดระยะเวลา 2 ปี ในภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 โดยการบริการจัดการร่วมกับภาครัฐและสถานประกอบการพบว่า

อุตสาหกรรมในปัจจุบันเป็นยุคก้าวกระโดดที่ต้องการกำลังคนที่มีความรู้ในหลากหลายด้านและสามารถผสมผสานกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ให้กับสถานประกอบการ แต่ระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการ ทำให้สถานประกอบการประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่ความรู้ความสามารถและทักษะเฉพาะด้าน แบบ Tailor Made โดยเฉพาะบุคลากรระดับกลาง (Middle Manager/Engineer) ที่มีความรู้ทั้งด้านกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม (Production Process) และการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management)

ทำให้ยากต่อการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการ (Product-Process of Innovation) ดังนั้นหากสามารถพัฒนารูปแบบความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเป็นระบบที่เข้ากันได้อย่างพอดี (Best Fit) จะสามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้

“การศึกษาต้องเปลี่ยนให้เข้ากับทีมนวัตกรรมในภาคเอกชน”
“Innovation Team for Learn what you Work & Work what you Learn”

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับ สอวช. (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ) และ สวทช. (สำนักงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีแห่งชาติ) โดย ITAP จัดทำโครงการที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งคาดหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย การดำเนินการเหล่านี้จึงเป็นการเปลี่ยนแนวคิดการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการอย่างแท้จริง ถือเป็นโอกาสใหม่และเป็นจุดเริ่มต้นของ วิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม หรือ Science for Industry (Sci-FI) ขึ้น

 

 

Science for Industry (Sci-FI)

Sci-FI คือโปรแกรมแบบ Tailor Made ที่ถูกออกแบบเพื่อให้เกิดการการสร้างความรู้ การถ่ายทอด และการใช้ความรู้ และประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมแก่นิสิต/นักศึกษาที่จบ ป.ตรี และเข้าศึกษาต่อระดับ ป.โท ภายใต้หลักสูตรใหม่ที่ชื่อว่า “หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2562)”  ซึ่งต้องมีกิจกรรมที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับการเป็นทีมนวัตกรรมของภาคเอกชนโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหัวหน้าโครงการ

 

ปรัชญาหลักสูตร Sci-FI

อาจารย์และนิสิตเป็นส่วนหนึ่งของทีมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม สร้างความรู้ การถ่ายทอด การใช้ความรู้ จากภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นความรู้สมัยใหม่ มีมูลค่าสูงและมีการจ้างงานต่อในอนาคต โดยความรู้เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนทั่วไป เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีซึ่งเชื่อมโยงกับภาคการผลิตในอุตสาหกรรม สามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพทันทีที่สำเร็จการศึกษา มีความสามารถในการศึกษาค้นคว้าและมีทักษะในการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในด้านการวิจัยพัฒนา และกระบวนการผลิต

 

ผู้เกี่ยวข้องใน Sci-FI

เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมและพัฒนาองค์ความรู้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน Sci-FI จึงต้องการการมีส่วนร่วมจากฝั่ง “เอกชน” และ “จุฬาฯ” โดยจึงมีผู้เกี่ยวข้องจาก 4 องค์ประกอบ ดังนี้ (เอกชน,ทีมอาจารย์,นิสิต, ITAP) โดยมีลำดับเวลา (Timeline) โครงการปีที่ 1 ดังต่อไปนี้