การรับสมัครนิสิตเข้าหลักสูตร Sci-FI
- หลักสูตรเปิดรับสมัครช่วงใด?
หลักสูตร Sci-FI มีวัตถุประสงค์ในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและความชำนาญในการทำวิจัยแบบข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary) ในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงเปิดรับบุคคลเข้าศึกษาเมื่อมีโจทย์วิจัยจากสถานประกอบการเบื้องต้นแล้ว (มีโจทย์วิจัยและทุนร่วมจากบริษัท) โดยโจทย์วิจัยดำเนินการผ่านโครงการ Hi-FI Consortium (บริษัทเข้าร่วมได้ที่ www.scifi.sc.chula.ac.th/studentapplication) - ใครสามารถเข้าร่วมหลักสูตร Sci-FI ได้บ้าง? พนักงานสถานประกอบการเข้าร่วมได้หรือไม่?
หลักสูตร Sci-FI สามารถรับได้ทั้งนักศึกษาจบใหม่ (ป.ตรี) หรือจบและทำงานมาแล้ว และพนักงานของสถานประกอบการก็ได้ โดยการคัดเลือกร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ - การคัดเลือกนิสิตมีกระบวนการอย่างไร? ใครเป็นผู้คัดเลือก? ทั้งในกรณีพนักงานและนักศึกษาจบใหม่?
คัดเลือกร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ แต่ผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย คือ สถานประกอบการ เนื่องจากจะเข้าใจความต้องการและประเมินคุณสมบัติของผู้สมัครที่เหมาะสมกับงานได้ดีที่สุด
กระบวนการ คือ คณะจะทำเป็น shortlist ของผู้สมัครโดยพิจารณาในมุมมองจากฝั่งวิชาการเป็นหลักทั้งคุณสมบัติเบื้องต้นที่ต้องครบถ้วนตามเกณฑ์การเข้าศึกษาต่อและความรู้ในระดับ ป.ตรี จากนั้นสถานประกอบการคัดเลือกตามวิธีการที่เห็นสมควรซึ่งมักจะใช้วิธีการเดียวกันกับการคัดเลือกพนักงาน และเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ทั้งนี้ อาจารย์อาจร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ด้วยแล้วแต่การตกลงกับสถานประกอบการแต่ก็เพื่อให้ความเห็นจากมุมมองมหาวิทยาลัยเป็นหลัก กรณี พนักงานคุณสมบัติต้องผ่านเกณฑ์การเข้าศึกษาต่อของจุฬาฯ - มหาวิทยาลัยรับสมัครเฉพาะนิสิต จุฬาฯ หรือเปิดรับสมัครนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นด้วย?
หลักสูตร Sci-FI เปิดรับทั้งนิสิต จุฬาฯ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นด้วย ผ่านโครงการ Hi-FI Consortium โดยจะทำการหารือถึงความต้องการและคุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการกับสถานประกอบการก่อน แล้วจึงประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการแต่การประชาสัมพันธ์อาจจะเริ่มจากภายในจุฬาฯ เป็นลำดับแรกก่อนขยายสู่วงกว้างต่อไป โดยกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตร Sci-FI คือ นักศึกษาที่เรียนจบแล้วอยากทำงาน แต่วางแผนเรื่องการเรียนต่อในอนาคตไว้ด้วย ประสบการณ์การทำงานที่จะได้รับจากหลักสูตร Sci-FI จะตอบโจทย์นิสิตกลุ่มนี้
หลักสูตรและการเรียนการสอนของหลักสูตร Sci-FI
- หลักสูตร Sci-FI นี้เป็นหลักสูตรเดิมหรือหลักสูตรใหม่?
เป็นหลักสูตรใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พ.ศ. 2562 และปรับปรุง พ.ศ.2567 ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะให้เหมาะกับการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่เอื้อต่อการทำงานในสถานประกอบการตลอด 2 ปี และยืดหยุ่นมากพอที่สามารถจะเติมความรู้ให้กับนิสิตตามความต้องการของสถานประกอบการนั้นๆ แบบ tailor made เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง - วุฒิที่นักศึกษาจะได้รับ?
ชื่อปริญญา (ภาษาไทย ) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) (ภาษาอังกฤษ) Master of Science (M.Sc.)
ชื่อสาขาวิชาที่ระบุใน TRANSCRIPT FIELD OF STUDY : Science for Industry - นิสิตจะต้องเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยช่วงไหนบ้าง?
การเรียนการสอน แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ก่อนเข้าโรงงาน 2 เดือน เป็นการเตรียมความพร้อมและสอนความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีที่เกี่ยวของให้กับนิสิตก่อนเข้าสู่โรงงาน มีทั้งวิชาส่วนกลางที่เรียนรวมกับนักศึกษาคนอื่นในหลักสูตรกับวิชาเฉพาะเรียนแยกตามสถานประกอบการ เป็นการเรียนแบบ block course ที่มหาวิทยาลัยเป็นหลัก ช่วงที่ 2 หลังจากเข้าทำงานในโรงงานแล้ว นิสิตจะทำงานเหมือนพนักงานปกติในช่วง 3 เดือนแรก มีการถอดความรู้จัดทำเป็นรายงานส่งอาจารย์เพื่อให้ประเมินสิ่งที่ได้เรียนรู้และสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติม จากนั้นอาจารย์จึงจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้ในโรงงาน โดยที่พนักงานของโรงงานสามารถเข้าร่วมได้ อาจจัดเป็นแบบ Coursework ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือตามความสะดวก หรืออาจเป็นการอาจจะเป็นการเรียนรู้ผ่าน Problem base ทำเป็นชิ้นงานส่งอาจารย์แล้วแต่ความเหมาะสม - นิสิตในหลักสูตร Sci-FI มีการแบ่งเวลาเรียนและทำงานอย่างไร?
นิสิตจะทำงานในโรงงานตามวันและเวลาเสมือนกับพนักงานในแผนก/ฝ่ายนั้นๆ การเรียนจะเกิดขึ้นในช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดของสถานประกอบการนั้นๆ แล้วแต่ความสะดวก - นิสิตต้องเรียนรวมหรือแยกจากนิสิตอื่นๆ
การเรียนมีทั้งเรียนรวมกับนักศึกษาในหลักสูตรเดียวกัน และเรียนแยกบางวิชาสำหรับแต่ละโรงงาน หรือบางครั้งมีการเรียนการสอนที่โรงงาน - เกณฑ์การจบการศึกษาของนิสิตเป็นอย่างไร?
เป็นไปตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาของจุฬาฯ โดยประเด็นที่สำคัญคือ นักศึกษาต้องมีคะแนนภาษาอังกฤษผ่านเกณฑ์ คือ CU-TEP 45 หรือ TOEFL 450 ขึ้นไป และต้องมีการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการโดยบทความที่นำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceeding) - บริษัทสามารถร่วมเป็นกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ได้หรือไม่?
บริษัทสามารถส่งบุคลากรร่วมเป็นกรรมการสอบได้ หากมีข้อคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสอบของของกระทรวง แต่ทั้งนี้ ตัวแทนสถานประกอบการสามารถเข้าร่วมรับฟังการสอบได้
การรักษาความลับและทรัพย์สินทางปัญญา
- การรักษาความลับทางการค้าทำอย่างไร?
หลักสูตร Sci-FI ดำเนินการร่วมกับโครงการ Hi-FI Consortium โดยต้องมีการหารือและทำข้อตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ซึ่งอาจกำหนดให้มีการเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยความลับ หรือ Non-Disclosure Agreement (NDA) การได้รับการอนุญาต (Approve) ข้อมูลจากทั้งสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการก่อนที่นักศึกษาจะนำข้อมูลไปนำเสนอในการประชุมวิชาการต่างๆ - ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ Hi-FI Consortium ใครเป็นเจ้าของ?
ตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ Hi-FI Consortium ในรุ่นแรกของการดำเนินโครงการร่วมกันมีโอกาสขึ้นได้น้อย แต่เมื่อมีการดำเนินงานร่วมกันมากขึ้นจนนำไปสู่งานวิจัยเชิงลึก หรือโครงการงานวิจัยที่ใหญ่ขึ้นอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้
การออกจากโครงการของนิสิต หรือจบช้ากว่า 2 ปี
- เคยมีนิสิต/นักศึกษาออกจากหลักสูตรหรือไม่? และมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร?
หลักสูตร Sci-FI ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่เคยมีเกิดขึ้นในโครงการลักษณะเดียวกัน มีทั้งกรณีผ่านการคัดเลือกแล้วเมื่อได้มาทำงานจริง พบว่ายังไม่ตอบโจทย์ตัวนักศึกษาเอง และกรณีเข้ามาทำงานแล้วบริษัทรับนักศึกษาเข้าเป็นพนักงานเลยไม่รอให้จบโครงการ ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งมหาวิทยาลัยและบริษัท
สำหรับหลักสูตร Sci-FI ลกความเสี่ยงด้วยระบบที่กำหนดให้อาจารย์ต้องเข้าโรงงานทุกเดือน นักศึกษาจะได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์ทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตในสถานประกอบการอย่างสม่ำเสมอ นักศึกษาจะรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้นและอยู่ร่วมจนจบโครงการ 2 ปี (และจบการศึกษาในหลักสูตร)
แต่หากเกิดขึ้นการแก้ไขปัญหาคือ หากเป็นในช่วงแรกของโครงการ (3-6 เดือนแรก) ก็จะหานักศึกษามาทดแทน กรณีร้ายแรงที่สุด คือ ได้เริ่มหัวข้อวิจัยไปแล้ว (1 ปี ขึ้นไป) จะเป็นการเติมคนเข้ามาทำงานเพื่อช่วยแก้ปัญหานั้นๆ โครงการยังคงดำเนินการต่อไป แต่เป็นในรูปแบบโครงการแก้ปัญหาของ ITAP เท่านั้น - หากนิสิตาไม่สามารถเรียนและทำงานให้ทันได้ตามกำหนดตามระยะเวลา 2 ปี ของโครงการ Hi-FI Consortium จะต้องขยายโครงการหรือไม่?
โดยปกติโครงการ Hi-FI Consortium จะสามารถจบได้ใน 2 ปี ด้วยกระบวนการพูดคุยหารือร่วมกันทุกเดือน เพื่อติดตามงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หากมีความเสี่ยงเนื่องจากทางบริษัทยังไม่มีโจทย์ที่ชัดเจน ทางมหาวิทยาลัยจะช่วยหาโจทย์จากข้อมูลการทำงานของนิสิตโดยโจทย์ต้องลึกพอในระดับงานวิจัยปริญญาโท
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หรือไม่? ระหว่างใครบ้าง?
หลักสูตร Sci-FI ดำเนินการร่วมกับ โครงการ Hi-FI Consortium ซึ่ง โครงการมีการทำ MOU ใน 2 ระดับ คือ ระดับนโยบายภาครัฐระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้การสนับสนุนโครงการ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับผู้ดำเนินโครงการ คือ ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กับ สถานประกอบการซึ่งจัดทำเป็น MOU แยกตามสถานประกอบการ - โครงการ Hi-FI Consortium มีการเซ็นสัญญาระหว่างใครบ้าง?
จะมีการเซ็นสัญญารายโครงการระหว่างบริษัทและทีมที่ปรึกษา ประกอบด้วย อาจารย์ที่ปรึกษาหลักของโครงการ อาจารย์ที่ปรึกษาร่วมของโครงการ และนิสิต Sci-FI (ผู้ปฎิบัติงานหลักในโครงการ) ซึ่งประกอบด้วย 1.บันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัทกับผู้เชี่ยวชาญ และ 2.บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการรักษาข้อมูลเป็นความลับ ทั้งนี้เฉพาะกรณีที่บริษัทขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก ITAP ตามเงื่อนไขของ ITAP กรณีที่บริษัทไม่ขอรับการสนับสนุนจาก ITAP นั้นไม่ต้องเซ็นสัญญาในส่วนนี้ - สถานประกอบการสามารถทำสัญญาผูกมัดให้นิสิตต้องทำงานในสถานประกอบการหลังจบโครงการได้หรือไม่?
ทางโครงการ Hi-FI Consortium ไม่แนะนำ โดยการเข้าร่วมโครงการเปรียบเสมือนการทดลองงาน (probation) ระยะเวลา 2 ปี นิสิตต้องมุ่งมั่นและพยายามแสดงศักยภาพของตนเองออกมามากกว่าการที่รู้ตัวแล้วว่ามีตำแหน่งงานรองรับหลังจบโครงการแน่นอน รวมทั้งสถานประกอบการเองก็มีเวลาในการพิจารณาและให้ข้อเสนอแก่นิสิตที่คิดว่าเหมาะสมและทำงานได้จริงให้อยู่ร่วมงานต่อซึ่งมีหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นความท้าทายของงาน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ เป็นต้น - ที่ผ่านมามีนิสิตทำงานที่ทำงานต่อในสถานประกอบการหลังจบการศึกษาในหลักสูตร หรือไม่?
ข้อมูลจากโครงการ Hi-FI Consortium พบว่า มีนิสิตจำนวนหนึ่งคนทำงานต่อกับสถานประกอบการ และบางส่วนอยากนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดในสถานประกอบการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับตัวนิสิตเองและจำนวนตำแหน่งงานของสถานประกอบการที่เปิดรับในขณะนั้นด้วย
อื่นๆ (ที่เคยพบ)
- หลักสูตร Sci-FI มีภาควิชาใดบ้างที่เข้าร่วม?
เริ่มต้นจาก 7 ภาควิชานำร่อง คือ เทคโนโลยีทางอาหาร วัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ เคมีเทคนิค เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีอีก 2 ภาควิชาคือ จุลชีววิทยา และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักสูตร Sci-FI เป็นระดับคณะ ทุกภาควิชาของคณะเข้าร่วมได้ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ มีทั้งหมด 14 ภาควิชา - บริษัทควรปฏิบัติกับ นิสิต เหมือนพนักงานปกติหรือไม่
นิสิตในหลักสูตร Sci-FI ซึ่งเข้าไปปฎิบัติงานในบริษัท เสมือนเป็น Employee ของบริษัท และต้องมี Job description ที่ชัดเจน โดย นิสิตทำงานเต็มเวลา อาจมีช่วงเวลาในระหว่างวันให้ นิสิตถอดความรู้เป็นบทเรียน - นันิสิตในหลักสูตร Sci-FI ต่างกับนักศึกษาที่มาฝึกงานอย่างไร
นิสิต Sci-FI อาจต้องเป็นภาระในสถานประกอบการในเรื่องการสอนงานในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นนิสิตจะเรียนรู้งาน ช่วยงานบางอย่างให้กับหัวหน้างานได้ รวมถึงแก้โจทย์ปัญหาบางอย่างและทำวิจัยในสถานประกอบการ ซึ่งจะต้องรักษาความลับให้ทางบริษัท - วิธีการวัดความสำเร็จของนิสิตในหลักสูตรเป็นอย่างไร
นอกจากผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง (Program Learning Outcomes: PLOs) ตามหลักสูตรแล้ว ในโครงการ Hi-FI Consortium ใช้รูปแบบของ ITAP โดยวัดจาก Proposal หากโจทย์ชัดกำหนดร่วมกันตั้งแต่ต้น แต่ถ้ายังไม่ชัด ก็ต้องมีรายงานที่แสดงถึงความก้าวหน้า ผลการเรียนรู้/ผลการศึกษา ที่เกิดขึ้นให้กับ ITAP เพื่อตรวจประเมิน เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับ Green industry ของนักศึกษา, การทำ literature review, การทำ market survey เป็นต้น